นักสถิติ
 
       ผู้ที่ทำงานวิจัยด้านทฤษฎีคณิตศาสตร์ และการพิสูจน์อันประกอบกันเป็นมูลฐานแห่งสถิติศาสตร์ พัฒนาระเบียบวิธีทางสถิติ ทำการสำรวจและตรวจสอบควบคุมการทดลองต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงสถิติ สำหรับใช้ในงานวิชาการ วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การปกครองงานธุรกิจ และงานอื่นๆ
 
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ศึกษาวิเคราะห์งานที่ได้รับมอบหมาย วางแผนงาน พิจารณาหาระบบวิธีสถิติที่เหมาะสมสำหรับงานที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติที่ถูกต้องแม่นยำและตรงตามวัตถุประสงค์ 
2. วางแผนงาน การเก็บรวบรวม การเสนอผลการสำรวจ และการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งได้มาจากการสำรวจหรือการสำมะโน โดยนำทฤษฎี และระเบียบวิธีสถิติมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ในงานนั้นๆ 
3. พัฒนาแบบสอบถามหรือแบบกระทู้ข้อความ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการตามแผนแบบการสำรวจหรือการสำมะโน 
4. ทำการสุ่มตัวอย่างและทำการสำรวจ หรือตรวจสอบควบคุมการทดลองต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ ประเมินความไว้ใจได้ 
5. ประมวลผลข้อมูลออกมาในรูปของตารางที่ออกแบบไว้แล้วเพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูล บรรณาธิการ ลงรหัส วิเคราะห์ความแปรปรวน และหลักของการอนุมานทางสถิติ เสนอข้อมูลในรูปแบบตาราง กราฟ และรูปแบบอื่นๆ 
6. เขียนรายงานสรุปหรือเขียนรายงานวิเคราะห์ และประเมินค่าของข้อยุติโดยยึดถือภาวะการที่เปลี่ยนแปรได้ อันมีผลกระทบถึงการตีความ หรือความสมบูรณ์ของข้อยุติเป็นมูลฐาน 
7. พัฒนาและนำระเบียบวิธีสถิติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมาประยุกต์ใช้
8. เขียนรายงานแสดงแหล่งที่มาของข้อมูลและขอบเขตจำกัดของความไว้ใจได้ของข้อมูลหรือการใช้ประโยชน์ได้ของข้อมูลที่ผู้ต้องการใช้ข้อมูล สามารถนำไปใช้ตามนโยบายหรือ วัตถุประสงค์ได้ 
9. ทำงานเกี่ยวกับการใช้ระเบียบวิธีและกลวิธีทางสถิติมากกว่าการสร้างแผนแบบของเครื่องมือทางสถิติ ซึ่งเป็นงานของนักคณิตศาสตร์สถิติ 
10. อาจวิเคราะห์ แปลและตีความข้อมูลเพื่อแสดงถึงความแตกต่างและความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างที่มาต่างๆ ของข้อมูล 
 
สภาพการจ้างงาน
       นักสถิติส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน
 
สภาพการทำงาน
       ทำงานในสำนักงานที่มีอุปกรณ์ในการทำงานเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคิดเลข และสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานเช่นสำนักงานทั่วไป ในกรณีที่เป็นนักสถิติที่ใช้ข้อมูลจากการ ตรวจสอบควบคุมการทดลองต่างๆ จะทำงานในห้องทดลองภายในสำนักงาน 
       นักสถิติอาจจะต้องออกสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลนอกสถานที่ด้วยตนเองหรือร่วมกับพนักงานสำรวจเป็นครั้งคราวขึ้นอยู่กับประเภทของงานหรือตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งอาจจะต้องเก็บข้อมูลในต่างจังหวัดหรือชนบท
 
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
- มีความรู้พื้นฐานทางสถิติอย่างน้อยในระดับปริญญาตรีและมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ 
- ควรจะเป็นบุคคลที่มีลักษณะ ชอบการติดต่อ ประชาสัมพันธ์กับคนทั่วไป รักความก้าวหน้า มีความคิดริเริ่ม สามารถวิเคราะห์ปัญหา ตัดสินใจเร็ว มีความสนใจและตื่นตัวในเรื่องทั่วไป และก้าวทันโลกและมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา 
- นอกจากนี้ ผู้สนใจควรสำรวจตัวเองว่าชอบสิ่งเหล่านี้หรือไม่ 
- ชอบทำงานเกี่ยวกับตัวเลข 
- เป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ 
- อดทน ซื่อสัตย์ มีไหวพริบ 
- ผู้สนใจจะเข้ารับการศึกษาสาขาวิชาสถิติ ควรมีความรู้ทางคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะหลักสูตรทั่วไปเป็นเรื่องการคำนวณตัวเลขเป็น
- นอกจากฝึกฝนให้เข้าใจคณิตศาสตร์ที่จำเป็นในการเข้าใจ วิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานความก้าวหน้าของเครื่องยนต์กลไกยังฝึกฝนให้รู้จักใช้คณิตศาสตร์ช่วยในการ ตัดสินใจปัญหาธุรกิจ 
- มีความรู้ความสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้โดยเฉพาะโปรแกรมสถิติสำเร็จรูป นอกเหนือจากความสามารถในการใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป 
 
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ 
       เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์บัณฑิตหรือศิลปศาสตร์บัณฑิต ในสาขาสถิติ ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ปริญญาตรี 
       หรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ศึกษาเกี่ยวกับทางด้านช่างจาก สถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ระยะเวลา การศึกษา 2 ปี (หลักสูตรต่อเนื่อง) เมื่อสำเร็จการศึกษา แล้วจะได้รับปริญญาตรี
 
โอกาสในการมีงานทำ
       ผู้สำเร็จการศึกษาด้านนี้จึงมีโอกาสจะหางานทำได้ไม่ยากนัก ถ้ายังมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ก็จะมีโอกาสมากขึ้น แหล่งจ้างงานทั่วไปจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานของเอกชน เช่น สถาบันวิจัยของเอกชน ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้าน
       งานด้านสถิติเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งในการช่วยวางแผนงานและการบริหารงานของหน่วยงานราชการและองค์การธุรกิจ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีแต่เพียงหน่วยงานราชการเท่านั้นที่ต้องการนักสถิติเพื่อเก็บรวบรวมตัวเลข แต่ในองค์กรธุรกิจก็เริ่มที่จะเห็นความสำคัญของ นักสถิติมากขึ้น คาดว่าในอนาคตของวงการธุรกิจจะต้องบริหารงานที่มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินงานธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ อาจจำเป็นต้องใช้นักสถิติในการบริหารงานขององค์กรธุรกิจมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการแข่งขันมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ความต้องการนักสถิติอาจมีแนวโน้มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้สำเร็จการศึกษาทางวิชาสถิติอาจถูกจ้างให้ทำงานในตำแหน่งงานอื่นๆ ที่มิได้ใช้ชื่อหรือตำแหน่งนักสถิติ แต่ใช้ความรู้ทางสถิติในการทำงาน 
 
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
       นักสถิติที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูล และมีความสามารถในการบริหารจัดการสามารถที่เลื่อนขั้นได้ถึงระดับบริหารหากได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกและมีความสามารถในการสอนสามารถที่จะเป็นอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษาทั่วไป หรือสามารถหารายได้พิเศษโดยรับทำงานเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ต้องการใช้ ข้อมูลสถิติประกอบการบริหารจัดการและดำเนินงานธุรกิจ เช่นการสำรวจตลาดสำหรับสินค้าชนิดใหม่ การสำรวจความต้องการของตลาดเพื่อปรับปรุงสินค้า เป็นต้น
 
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรสถิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติ
2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ 
4. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
5. มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสถิติ
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 
8. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาสถิติ
9. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสถิติ
11. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
12. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสถิติ
13. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสถิติ
14. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
15. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ (คณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ เคมี ชีววิทยาจุลชีววิทยา ฟิสิกส์ สถิติ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม)
16. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์
17. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์
18. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาคณิตศาสตร์
19. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
20. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาคณิตศาสตร์
 
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ