เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล
(Human resources official)
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล
ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้บริหารของหน่วยงานวางระเบียบปฏิบัติของพนักงาน วางระเบียบการบริหารงานบุคคล วางระเบียบหรือระบบความดีความชอบ เตรียมการจัดจ้างคนงาน การจัดสวัสดิการ แรงงานสัมพันธ์ การฝึกอบรม และการปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ช่วยผู้บังคับบัญชาบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และประสานงานกับบุคลากรให้เข้าใจธุรกิจขององค์กรและเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
2. ช่วยหน่วยงานผลักดันให้บุคลากรมีความรู้สึกเป็นหุ้นส่วนร่วมกับผู้อื่นในองค์กร มีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรเพื่อทำงานร่วมกัน ให้คำปรึกษาและเป็นเพื่อนในทางธุรกิจกับบุคลากร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่าย ทรัพยากรบุคคล ต้องช่วยปฐมนิเทศบุคลากรเรื่องธุรกิจและลูกค้า นอกเหนือจากเรื่องค่าตอบแทนสวัสดิการ และการจัดฝึกอบรมพนักงาน
3. สรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานหรือบริหารงานและบรรจุคนให้เหมาะสมกับงาน
4. จัดเตรียมการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพ
5. ช่วยจัดเตรียมดำเนินการกำหนดค่าตอบแทนการทำงานในรูปแบบต่างๆ เช่น โบนัส ค่าจ้าง รูปแบบของสวัสดิการ และผลประโยชน์อื่นๆ เป็นต้น รวมทั้งการเสนอให้พนักงานเข้ามามีหุ้นส่วนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และภักดีต่อองค์กร
6. เอาใจใส่สงวนรักษาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์กรให้ยาวนานที่สุด โดยการสร้างทัศนคติ สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน
7. แจ้งพนักงาน เมื่อพนักงานเกษียณหรือหมดสัญญาจ้าง โดยให้ความเป็นธรรมแก่บุคลากร และพยายามช่วยเหลือพนักงานทดแทนการเลิกจ้าง
สภาพการจ้างงาน
ผู้ที่รับราชการจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ถ้าปฏิบัติงานในหน่วยงานเอกชนจะได้รับเงินเดือน มีสวัสดิการ ค่ายานพาหนะ ผลประโยชน์อย่างอื่น ค่ารักษาพยาบาล โบนัส ตามนโยบายและระเบียบของบริษัท
สภาพการทำงาน
ผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานในสำนักงานขององค์กรธุรกิจ ดูแลสภาพการทำงาน สภาพการจ้าง และสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานให้มีความสุขในการทำงานมีสุขภาพอนามัยดี และมีความปลอดภัยในการทำงาน ในกรณีที่บริษัทมีสาขาในต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อดูแลความเป็นอยู่ และการทำงานของพนักงาน ดูสถานที่เพื่อจัดฝึกอบรม รวมทั้งการจัดสันทนาการระหว่างพนักงานในบริษัท ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และเป็นบุคลากรในกลุ่มแรกขององค์กรที่จะต้องเข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัยและด้านการควบคุมคุณภาพ เพื่อนำมาอบรมพนักงาน
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
– สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ถึงปริญญาตรี ทางสาขาการบริหารการจัดการ บริหารงานบุคคล รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
– มีทัศนคติดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี
– มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน มีความรู้และเข้าใจเรื่องแรงงานสัมพันธ์และพื้นฐานงานบริหารบุคคล สามารถถ่ายทอดนโยบายบริหารสู่ บุคลากร
– เป็นผู้ที่มีความรอบคอบ ในการวิเคราะห์ พิจารณา วินิจฉัย การปฏิบัติงาน
– มีเมตตาธรรม มีความยุติธรรม ซื่อสัตย์สุจริต
– จิตใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
– มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าวินิจฉัย และกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ปฏิบัติทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมงาน
– มีความประพฤติ ปฏิบัติดี มีสัมมาคารวะ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของเพื่อนร่วมองค์กร
– มีความรู้ในธุรกิจขององค์กรและมีความรู้ทั่วไปกว้างขวาง เพื่อประโยชน์ขององค์กรและเพื่อนร่วมงาน
– มีความกระตือรือร้น แสวงหาโอกาสที่จะช่วยหน่วยงานได้เรียนรู้ ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายวิทย์หรือศิลป์คำนวณ) สามารถเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีใน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์สาขาวิชาบริหารงานบุคคล สาขาวิชาจิตวิทยา คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการบริหารงานบุคคล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม และผู้ที่จบในสาขาวิชาอื่นๆ สามารถเรียนรู้การบริหารงานบุคคลโดยเข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารงานบุคคลที่จัดโดยสมาคมการจัดงานบุคคลแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
โอกาสในการมีงานทำ
ปัจจุบันองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ต่างก็ต้องการมีเจ้าหน้าฝ่ายบุคลากรมาช่วยให้การบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน โดยให้ทำงานในหน้าที่ต่างๆ ได้แก่ เจ้าหน้าที่บุคคล เจ้าหน้าที่ฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่งานวินัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายอบรม เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ และจัดจ้าง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์และจัดฝึกอบรม หรือเป็นตัวแทนวิเคราะห์ และจัดจ้าง ให้กับองค์กรทางธุรกิจ หรือหน่วยงานต่างๆ
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ในหน่วยงานของรัฐบาลอาจมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ฝ่ายการพนักงาน ฯลฯ ในหน่วยงานเอกชนสำหรับผู้มีประสบการณ์อย่างน้อย 2 - 3 ปี จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นระดับบริหารคือ ผู้ช่วยผู้จัดการบุคคล หัวหน้าส่วนบริหารงานบุคคลตามลำดับ หรือเป็นระดับผู้จัดการบริหารงานบุคคลและเลื่อนไปตามสายงานบริหารตามโครงสร้างขององค์กร ในบางองค์กรอาจให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการ
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
4. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์
5. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะการจัดการและการท่องเที่ยว สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
6. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
7. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
8. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา
9. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา
10. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แขนงวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์และองค์การ
11. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการจัดการ บริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์
12. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาการบริหารองค์การ
13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการ - การจัดการทรัพยากรมนุษย์
14. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์
15. มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี คณะรัฐศาสตร์
16. มหาวิทยาลัยเกริก คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
17. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
18. มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา คณะรัฐศาสตร์
19. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์
20. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาวิชารัฐศาสตร์
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ