จิตแพทย์
 
       ผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยโรค สั่งยา และให้การรักษาความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ ทำการวิจัยปัญหาทางแพทย์และปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงการตรวจร่างกาย การวินิจฉัยโรค การสั่งยา รักษาอาการผิดปกติต่างๆ อาจทำงานเฉพาะการให้คำแนะนำและรักษาทางยา ตรวจค้นโรคและความผิดปกติต่างๆ ของมนุษย์ เพื่อให้ทราบลักษณะ แก่นแท้ของสมมุติฐาน อาการ ผลของโรค และความผิดปกติสำหรับช่วยกำหนดวิธีการรักษา
 
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ตรวจร่างกาย วินิจฉัยอาการทางจิต สั่งยา รักษาอาการผิดปกติของผู้ป่วย โดยการใช้เครื่องมือทดสอบที่เป็นมาตรฐานร่วมกับการสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ วิเคราะห์ และแปรผลการทดสอบ
2. ตรวจผู้ป่วยและตรวจหรือสั่งตรวจทางเอ็กซเรย์หรือการทดสอบพิเศษถ้าต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม 
3. พิจารณาผลการตรวจและผลการทดสอบ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์อื่นตามความจำเป็นและวินิจฉัยความผิดปกติ 
4. บำบัดรักษาอาการความผิดปกติทางจิตโดยสั่งยาหรือการรักษาอย่างอื่น และแนะนำผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในเรื่องการปฏิบัติตนที่จำเป็นสำหรับรักษาตนให้พ้นจากการป่วยไข้ 
5. เก็บรักษาบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ได้ตรวจโรคที่เป็นและการรักษาที่ได้ให้หรือสั่ง 
6. อาจรับผิดชอบและสั่งงานสำหรับพยาบาลในโรงพยาบาลหรือสถาบันอื่น
 
สภาพการจ้างงาน
       ผู้ประกอบอาชีพนี้ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจต้องมาทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด อาจจะต้องมีการจัดเวรอยู่ประจำโรงพยาบาล นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้ว ในภาครัฐ และภาคเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาจิตแพทย์สามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานพิเศษนอกเวลาทำงานประจำ โดยรายได้ที่ได้รับขึ้นอยู่กับความสามารถและความอุตสาหะ
 
สภาพการทำงาน
       1. ถ้าทำงานอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ จะต้องสอนนักศึกษาแพทย์ด้วย ส่วนงานด้านการบริการก็จะเป็นตรวจผู้ป่วยนอก หรือที่เรียกว่า OPD (Out Patient Department) ประมาณ 6 ชม. สองครั้งต่ออาทิตย์หรือ 12 ชม.ต่ออาทิตย์ (แต่ว่าแต่ละโรงพยาบาลก็จะแตกต่างกันไป แล้วแต่ปริมาณคนไข้) โรงพยาบาลที่มีคนไข้ค่อนข้างเยอะก็อาจต้องมีระยะเวลาการตรวจโอพีดีมากกว่านั้น 
แล้วก็จะต้องไปดูคนไข้ใน ซึ่งเคสตามวอร์ดต่างๆ ที่มีภาวะจิตเวชเกิดขึ้นในโรงพยาบาล เช่น คนไข้ที่นอนโรงพยาบาลมานาน เป็นซึมเศร้าหรือเปล่า เพราะดูไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับการรักษา ซึม ไม่ค่อยกินข้าว หรือคนไข้บ่นว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ เขาก็จะปรึกษาจิตแพทย์ให้ไปช่วยดู ส่วนจำนวนระยะเวลาที่ดูคนไข้ในนี้บอกไม่ได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้ในที่มี ถ้ามีบางทีก็อาจจะราวด์ทุกวันเวลาที่ว่าง นอกเหนือจากการออกโอพีดี งานอีกส่วนของการอยู่โรงเรียนแพทย์ก็คืองานวิจัย จะต้องมีการทำกิจกรรมทางวิชาการคือวิจัย ต้องแบ่งเวลาให้ดี บางท่านอาจจะแบ่งเป็น 5 วัน ตรวจโอพีดี 2 วัน อีก 2 วันเผื่อสอน แต่เว้นอีกวันไว้ทำกิจกรรมทางวิชาการ เกี่ยวกับงานวิจัยและการหาข้อมูลทางการวิจัย  อีกจุดนึงที่ต้องทำคือภาคการบริหาร หรือว่านอกภาค ไม่ว่าจะเป็นการประเมินคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนด้านการศึกษา เรื่องทรัพยากร และโรงเรียนแพทย์ก็จะมีหมอเวรเพื่อรับปรึกษาเหมือนกันโดยจะเป็นเวรนอกเวลาราชการที่เวลามีปัญหาจะให้หมอเวร (ฝ่ายอื่น) หรือใครก็ตามที่มีหน้าที่ดูแลสามารถโทรไปปรึกษาได้ตลอด
       2. จิตแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไป ลักษณะจะคล้ายกันคือต้องมีโอพีดี แต่โอพีดีอาจจะเยอะหน่อยและมีการตรวจคนไข้ใน ซึ่งโรงพยาบาลทั่วไปต้องยอมรับว่าวอร์ดจิตเวชยังไม่น่าจะมี เช่น โรงพยาบาลจังหวัด ถ้าเกิดมีคนไข้ก็คงต้องให้คนไข้นอนในวอร์ดสามัญ ถ้ารุนแรงก็คงต้องส่งไปจิตเวชศูนย์ คือ โรงพยาบาลที่จะดูผู้ป่วยจิตเวชโดยเฉพาะคือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาหรือโรงพยาบาลศรีธัญญา แต่เป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่ดูผู้ป่วยในจังหวัดกรุงเทพอย่างเดียว ถ้าต่างจังหวัดเวลามีปัญหาก็จะไปจิตเวชศูนย์ เช่น โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ โรงพยาบาลจิตเวชสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลจิตเวชเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนไป ได้พยายามให้มันกระจายอยู่ในทุกโรงพยาบาล จริงๆ แล้วต้องมีจิตแพทย์ไปประจำแต่ปัจจุบันจิตแพทย์ยังค่อนข้างขาดแคลนมาก ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีวอร์ด แพทย์ต้องนอนเฝ้าวอร์ดเพราะถ้ามีปัญหาฉุกเฉินอะไรนอกเวลาจะได้มีแพทย์จัดการ 
       3. โรงพยาบาลจิตเวชที่เป็นศูนย์ เช่นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ งานหลักคืองานบริการเลย ออกโอพีดีเป็นหลัก ดูแลคนไข้เพราะโรงพยาบาลอย่างนั้นผู้ป่วยในเยอะมาก 
 
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
สำเร็จการศึกษาทางวิชาจิตแพทย์คณะแพทย์ศาสตร์ 
ขยันสนใจในการศึกษาหาความรู้ทางวิทยาการแพทย์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี 
มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่พิการหรือทุพพลภาพ ปราศจากโรค 
สามารถอุทิศตนยอมเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนจาก การเจ็บป่วย มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วย มีความเมตตา และมีความรัก ในเพื่อนมนุษย์ มีความเสียสละที่จะเดินทางไปรักษาพยาบาลผู้คนในชุมชนทั่วประเทศ 
มีมารยาทดี สามารถเข้ากับบุคคลอื่นได้ทุกระดับ มีความอดทน อดกลั้น และมีความกล้าหาญ 
มีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของตนมีคุณธรรมและจริยธรรมทางการแพทย์ ไม่ใช้ความรู้ทางวิชาการของตนไปหลอกลวงหรือทำลายผู้อื่น 
 
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ 
       ผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า และสามารถสอบผ่านวิชาต่างๆ ในการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการสอบสัมภาษณ์ และการตรวจร่างกาย จึงมีสิทธิเข้าศึกษาแพทย์ โดยมีสถาบันที่เปิดสอนวิชาการแพทย์ระดับปริญญาหลายแห่งในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ผู้ที่จะเรียนแพทย์จะต้องมีฐานะทางการเงินดีพอสมควร เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนวิชาแพทย์ค่อนข้างสูงและใช้เวลานานกว่าการเรียนวิชาชีพอื่นๆ โดยต้องเสียค่าบำรุงการศึกษา ค่าตำราวิชาการแพทย์ และค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ 
หลักสูตรวิชาการแพทย์ระดับปริญญาตรีตามปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี ในสองปีหลักสูตรการเรียนจะเน้นหนักด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ต่อจากนั้นจึงเรียนต่อวิชาการแพทย์ โดยเฉพาะอีก 4 ปี เมื่อสำเร็จได้รับใบอนุญาตประกอบเวชกรรมของแพทยสภามีสิทธิประกอบอาชีพแพทย์ได้ตามกฎหมาย
 
โอกาสในการมีงานทำ
       อาชีพจิตแพทย์ สามารถรับราชการโดยทำงานในโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานีอนามัยหรือหน่วยงานการแพทย์ของกระทรวง ทบวง กรม ที่จัดขึ้นเพื่อบริการประชาชน และเจ้าหน้าที่หรือทำงานในโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ ยังสามารถทำรายได้พิเศษด้วยการเปิดคลินิกส่วนตัวเพื่อรับรักษาคนไข้นอกเวลาทำงานประจำได้อีก 
แนวโน้มของตลาดแรงงานสำหรับจิตแพทย์ยังคงมีอยู่เพราะเนื่องจากสังคมในปัจจุบันมีการแข่งขันกันมากและมีความรุนแรงมากขึ้นโดยลำดับ ทำให้เกิดสภาพบีบคั้นทั้งเศรษฐกิจและสังคม จึงมีผลให้เกิดความเครียด มีปัญหาทางด้านจิตใจ ไม่สามารถ แก้ปัญหาด้วยตนเองได้ จึงเกิดสถิติของผู้ป่วยเป็นโรคจิต และการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นรัฐบาลได้ตระหนักถึงสถานการณ์นี้ จึงได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลป้องกัน และบำบัดรักษา คือจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อช่วยเหลือบริการบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองขึ้นที่ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ รวมทั้งการติดตั้งโทรศัพท์สายด่วน สุขภาพจิต ตลอดจนจัดตั้งเว็บไซต์ เพื่อบริการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ให้คำปรึกษาแนะนำและให้แนวทางแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่ถูกต้องจะเห็นได้ว่าความต้องการบุคลากรทางด้านนี้ยังมีอีกมากในยุคปัจจุบัน
 
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
       ผู้ประกอบจิตแพทย์ที่มีความชำนาญ และประสบการณ์จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจนถึงระดับ ผู้บริหาร หากมีความสามารถในการบริหาร หรืออาจประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยเปิดคลินิกรับให้คำปรึกษาต่อผู้ที่มีปัญหาทางจิตทั่วไป นอกเวลาทำงานเป็นรายได้พิเศษ สำหรับผู้ที่มีความชำนาญและมีทีมงานที่มีความสามารถ รวมทั้งมีเงินทุนจำนวนมากก็สามารถเปิดโรงพยาบาล หรือสถานพักฟื้นในการบำบัดรักษา ผู้ป่วยทางจิตได้ ในประเทศไทยผู้ที่ป่วยทางจิตมักไม่ค่อยนิยมที่จะพบจิตแพทย์โดยตรงแต่อาจจะจัดจ้าง จิตแพทย์ทำงานในลักษณะที่ปรึกษา จิตแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางอาจได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลหลายแห่ง ทำให้ได้รับรายได้มากขึ้น หรืออาจจะเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนทางจิตวิทยาหรือทางจิตแพทย์
 
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เปิดสอน
1. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ 
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ 
4. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 
5. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์
6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์
7. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
8. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์
9. มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
11. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาแพทยศาสตร์
13. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์
14. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะแพทยศาสตร์
15. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
16. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะแพทยศาสตร์
17. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์
18. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์
19. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์
20. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาแพทยศาสตร์
 
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ