จักษุแพทย์
(Ophthalmologist)
จักษุแพทย์
ผู้ตรวจและให้การรักษาตาด้วยวิธีการ ให้ยาหรือการผ่าตัด สั่งประกอบแว่นตาให้ผู้ป่วย รวมถึงการตรวจสายตาเพื่อให้ทราบข้อบกพร่อง โดยใช้เครื่องมือและวิธีการทดสอบต่างๆ หรือสั่งขนาดของเลนส์สำหรับประกอบแว่นตา หรือให้คำแนะนำในการฝึกสายตาตามความจำเป็น หรือเพื่อรักษาสายตาให้ดีขึ้น
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ตรวจสายตาและสั่งให้ทำแว่นตา หรือให้การรักษาตาด้วยวิธีการให้ยาหรือผ่าตัด
2. ตรวจสายตาให้ทราบข้อบกพร่องโดยใช้เครื่องมือและวิธีการทดสอบต่างๆ
3. สั่งขนาดของเลนส์สำหรับประกอบแว่นตา
4. ให้คำแนะนำในการฝึกสายตาตามความจำเป็นเพื่อรักษาสายตาให้ดีขึ้น
5. ตรวจตา วัดสายตา วัดความดันตา ตรวจดูกระจกตา ความลึกของช่องหน้าลูกตาลักษณะม่านตาปฏิกิริยาต่อแสงสว่าง ตรวจดูจอประสาทตา
6. อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติ หรือคนใกล้ชิดได้เข้าใจถึงลักษณะของโรคตาการกำเนิดโรค แนวทางเลือกในการรักษา
7. อธิบายการดำเนินการรักษา ข้อดีข้อเสียจากการผ่าตัดและผลหลังการผ่าตัดวิธีการปฏิบัติตัวก่อน-หลังการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนจากยาชาหรือยาสลบสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัด
8. ติดตามผลแทรกซ้อนจากการให้ยา เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ กลุ่มยาที่มีผลต่อไตบางตัว
9. เก็บรักษาบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ได้ตรวจโรคตาที่เป็นและการรักษาที่ได้ให้หรือสั่ง
สภาพการจ้างงาน
จักษุแพทย์ อาจต้องมาทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดและอาจจะต้องมีการจัดเวรอยู่ประจำโรงพยาบาล นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วในภาครัฐและภาคเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการ ในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์สามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยรายได้ที่ได้รับขึ้นอยู่กับความสามารถและความอุตสาหะ
สภาพการทำงาน
ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล โดยตรวจคนไข้ในที่อยู่ในความรับผิดชอบทุกวันและต้องตรวจคนไข้นอกที่เข้ามารับการรักษา ผู้ที่เป็นแพทย์อาจถูกเรียกตัวได้ทุกเวลาเพื่อทำการรักษาคนไข้ให้ทันท่วงที ผู้ที่เป็นแพทย์ต้องพร้อมเสมอที่จะสละเวลาเพื่อรักษาคนไข้ ในสถานที่ทำงานจะต้องพบเห็น คนเจ็บ คนป่วย จึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะหากมีจิตใจที่อ่อนไหวต่อสิ่งที่ได้พบเห็นจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานได้
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
– สำเร็จการศึกษาทางวิชาแพทย์ และมีความรู้ทางจักษุเป็นการเฉพาะ
– ขยันสนใจในการศึกษาหาความรู้ทางวิทยาการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นอย่างดี
– มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย และจิตใจไม่พิการหรือทุพพลภาพ ปราศจากโรค
– สามารถอุทิศตนยอมเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน จากการเจ็บป่วย มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วย มีความเมตตา และมีความรัก ในเพื่อนมนุษย์ มีความเสียสละที่จะเดินทางไปรักษาพยาบาลผู้คนในชุมชนทั่วประเทศ
– มีมารยาทดี สามารถเข้ากับบุคคลอื่นได้ทุกระดับ มีความอดทน อดกลั้น และมีความกล้าหาญ
– มีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของตนมีคุณธรรมและจริยธรรมทางการแพทย์ ไม่ใช้ความรู้ทางวิชาการของตนไปหลอกลวงหรือทำลายผู้อื่นๆ
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
ผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าและสามารถสอบผ่านวิชาต่างๆ ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการสอบสัมภาษณ์และการตรวจร่างกาย เมื่อผ่านการทดสอบจึงมีสิทธิเข้าศึกษาแพทย์ โดยมีสถาบันที่เปิดสอนวิชาการแพทย์ระดับปริญญาหลายแห่งในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ผู้ที่จะเรียนแพทย์ต้องมีฐานะทางการเงินดีพอสมควร เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนวิชาแพทย์ค่อนข้างสูง และใช้เวลานานกว่าการเรียนวิชาชีพอื่นๆ
หลักสูตรวิชาการแพทย์ระดับปริญญาตรีตามปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี ในสองปีแรกของหลักสูตร การเรียนจะเน้นหนักด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ต่อจากนั้นจึงเรียนต่อวิชาการแพทย์ โดยเฉพาะอีก 4 ปี เมื่อสำเร็จได้รับใบอนุญาตประกอบเวชกรรมของแพทยสภา มีสิทธิประกอบอาชีพแพทย์ได้ตามกฎหมาย
โอกาสในการมีงานทำ
จักษุแพทย์ สามารถรับราชการโดยทำงานในโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานีอนามัยหรือ หน่วยงานการแพทย์ของกระทรวง ทบวง กรมที่จัดขึ้นเพื่อบริการประชาชน และเจ้าหน้าที่หรือทำงานในโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ยังสามารถทำรายได้พิเศษด้วยการเปิดคลินิกส่วนตัวเพื่อรับรักษาคนไข้นอกเวลาทำงานประจำได้อีก แนวโน้มของตลาดแรงงานสำหรับจักษุแพทย์ยังคงมีอยู่ ดังนั้นจักษุแพทย์สามารถหางานทำได้ง่าย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนจักษุแพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและชนบทที่ห่างไกลจากความเจริญในตัวเมือง
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
จักษุแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจนถึงระดับผู้บริหาร หากมีความสามารถในการบริหาร หรืออาจประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยเปิดคลินิกรับรักษาคนไข้ทั่วไป หรือทำงานพิเศษนอกจากงานประจำ ทำให้ได้รับรายได้พิเศษ สำหรับผู้ที่มีความชำนาญและมีทีมงานที่มีความสามารถ รวมทั้งมีเงินทุนจำนวนมากก็สามารถเปิดโรงพยาบาลได้
จักษุแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางอาจได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลหลายแห่งทำให้ได้รับรายได้มากขึ้น
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เปิดสอน
1. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์
4. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
5. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์
6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์
7. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
8. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์
9. มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
11. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาแพทยศาสตร์
13. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์
14. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะแพทยศาสตร์
15. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
16. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะแพทยศาสตร์
17. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์
18. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์
19. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์
20. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาแพทยศาสตร์
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ