ครูสอนระดับมัธยมศึกษา
(Secondary school teacher)
ครูสอนระดับมัธยมศึกษา
ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบด้านการให้ความรู้แก่ผู้เรียนในระดับอายุเฉลี่ย 13-18 ปี จัดเตรียมแผนการสอนที่เหมาะสม จัดเตรียมและดำเนินการวัดผลประเมินผลในชั้นเรียน
ลักษณะงานที่ทำ
1. การเตรียมการเรียนการสอนในแต่ละวิชา คิดเทคนิควิธีการที่จะทำให้เด็กๆมีความเข้าใจในวิชานั้นๆอย่างง่าย
2. เตรียมเรื่องกิจกรรมต่างๆตอนเช้า ทั้งกิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ
3. ในบางสัปดาห์อาจจะต้องมีการตรวจระเบียบ ทั้งผม เล็บ และการแต่งกาย
4. เมื่อทำกิจกรรมหน้าเสาธงต่างๆเสร็จเรียบร้อย ก็แยกย้ายเข้าห้องเรียนเพื่อพบครูที่ปรึกษา เพื่อสอบถามปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และแจ้งข่าวคราวของโรงเรียน
5. เริ่มทำการเรียนการสอน คุณครูแยกย้ายกันสอนตามตารางสอนที่กำหนดมา
6. แม้ในเวลาพักกลางวัน คุณครูก็ยังมีหน้าที่คอยดูแลความเรียบร้อยของเด็กๆ และโรงเรียน
7. มีการตรวจการบ้านในแต่ละวัน
8. คอยให้คำปรึกษาเด็กๆในหลายๆเรื่อง
สภาพการจ้างงาน
อัตราค่าจ้างในช่วงเริ่มต้นของครูนั้นจะแบ่งออกตามระดับการศึกษา แต่หากมีประสบการณ์ในการทำงานในสายอาชีพแล้ว จะมีระดับเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุงาน และหากมีความสามารถเฉพาะทางก็จะมีค่าวิชาชีพเพิ่มเข้ามาด้วย
สภาพการทำงาน
ขึ้นอยู่กับระดับชั้นที่สอน มีความแตกต่างกันเนื่องจากช่วงวัยของเด็ก ทำให้มีความยากง่ายทั้งเรื่องของเนื้อหา และเรื่องการควบคุมเด็กๆให้ตั้งใจเรียนและเชื่อฟังนั้น มีวิธีการที่แตกต่างกัน
นอกเหนือจากจะต้องทำหน้าที่ในการสอนหนังสือให้เด็กๆ ได้รับความรู้มากที่สุดแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องการดูแลและให้คำปรึกษาเด็กๆเหมือนกับเป็นคนในครอบครัว การเป็นครูที่ปรึกษา ครูฝ่ายปกครอง หรือแม้แต่ครูประจำวิชา ทุกคนล้วนมีหน้าที่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ดูแลเด็กๆอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเห็นว่าเด็กๆ มีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องการเรียนหรือเรื่องส่วนตัวก็เป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะต้องอยู่ข้างๆเพื่อแนะนำและให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
– เป็นคนใจเย็น เพราะต้องอยู่กับเด็กๆตลอดเวลา ในบางครั้งที่ต้องดุหรือเตือนเด็กๆ ก็ควรใช้เหตุผลเพื่ออธิบายให้เด็กเข้าใจในเรื่องนั้นๆ
– รักในการสอน ไม่หวงวิชา และมีความสุขในการได้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน
– มีความรับผิดชอบในอาชีพ ครูแทบจะไม่มีวันหยุด เพราะการลาหยุดหนึ่งครั้งส่งผลต่อการเรียนของนักเรียน
– เป็นคนจิตใจดี มีการดูแลเอาใจใส่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
– เป็นคนมีประสบการณ์ในหลายๆด้าน ในการบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมากหรือประสบการณ์ชีวิตให้เด็กๆฟัง เพื่อเป็นแนวทางที่ดีให้กับเด็กๆ
– มีความรู้ความชำนาญในวิชาที่จะสอน มีการคิดค้นเทคนิคให้เข้าใจในวิชานั้นๆได้ง่ายขึ้น สามารถพัฒนาความสามารถของเด็กให้ดีขึ้นได้
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
การจะเป็นครูได้นั้น ต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายใดก็ได้ และเลือกเรียนในคณะครุศาสตร์ หรือ ศึกษาศาสตร์โดยเลือกหนึ่งวิชาเอก ที่เรามีความถนัดและต้องการจะสอนในอนาคต ซึ่งคณะครุศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายในการค้นหาวิธีการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นและสร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง โดยเลือก สาขามัธยมศึกษา เป็นสาขาซึ่งเตรียมครูสำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป จิตวิทยาและการแนะแนว เทคโนโลยีการศึกษา และภาษาอังกฤษ เป็นต้น
โดยในแต่ละการเรียนการสอนจะมีวิชาที่เหมือนกัน คือ วิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับครู และจะค่อยแยกเรียนตามสาขาหลักของตนเอง หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือเรียนปริญญาตรีในด้านอะไรก็ได้ที่เรามีความสนใจ และไปต่อปริญญาโท ในด้านการศึกษาหรือการสอน ก็สามารถมาเป็นครูได้
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
อาชีพครูมีการเลื่อนระดับขั้นแบบเดียวกับอาชีพรับราชการ คือจะมีการสอบเลื่อนระดับที่เรียกว่า“ซี” ยิ่งมีระดับ“ซี”ที่สูงขึ้น ฐานเงินเดือนก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกเหนือจากนั้นยังสามารถทำผลงานและยื่นเพื่อเลื่อนระดับขึ้นไปได้ แต่หากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องเรียนจบปริญญาโท และหากต้องการเลื่อนตำแหน่งและมีฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น ต้องเรียนต่อในระดับชั้นปริญญาเอกต่อไป
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เปิดสอน
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ การจัดการเรียนรู้
4. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์
5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะศึกษาศาสตร์
6. มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะศึกษาศาสตร์
7. มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะศึกษาศาสตร์ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
8. มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะศึกษาศาสตร์ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์
9. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะศึกษาศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะศึกษาศาสตร์
11. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะศึกษาศาสตร์
12. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศึกษาศาสตร์
13. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะศึกษาศาสตร์
14. มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คณะครุศาสตร์
15. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คณะศึกษาศาสตร์
16. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี คณะครุศาสตร์
17. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ คณะครุศาสตร์
18. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คณะครุศาสตร์
19. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ คณะครุศาสตร์
20. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต คณะครุศาสตร์
21. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะครุศาสตร์
22. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ คณะครุศาสตร์
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ