วิศวกรโยธา
 
       ผู้วางแผน จัดระบบงานและควบคุมงานสร้างถนน สะพาน อุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่างๆ ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ตลอดจน การติดตั้งการใช้ และการบำรุงรักษาระบบไฮดรอลิก และระบบสุขาภิบาล ทำการตรวจตรา และทดสอบทำงานวิจัยและให้คำแนะนำทางเทคนิคต่างๆ
 
ลักษณะของงานที่ทำ
1. วางแผน จัดระบบงานและควบคุมงานสร้างถนน สะพาน อุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่างๆ 
2. ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนการติดตั้ง การใช้และการบำรุงรักษาระบบไฮดรอลิก และระบบสาธารณสุขอื่นๆ 
3. พิจารณาโครงการและทำงานสำรวจเพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการก่อสร้าง 
4. สำรวจ ประเมินลักษณะความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศ ทางบกและทางน้ำเพื่อพิจารณาว่าจะมีผลต่อโครงการอย่างไรบ้าง 
5. สำรวจดูพื้นผิวดินและใต้ผิวดินว่าจะมีผลต่อการก่อสร้างอย่างใดและเหมาะสมที่จะรองรับสิ่งก่อสร้างเพียงใด 
6. ปรึกษาหารือในเรื่องโครงการกับผู้ชำนาญงานสาขาอื่นๆ เช่น วิศวกรไฟฟ้า หรือวิศวกรช่างกล วางแผนผังรากฐาน ท่อสายไฟ ท่อต่างๆ และงานพื้นดินอื่นๆ คำนวณความเค้น ความเครียด จำนวนน้ำ ผลอันเนื่องมาจากความแรงของลมและอุณหภูมิ ความลาด และเหตุอื่นๆ 
7. เตรียมแบบแปลนรายงานก่อสร้างและจัดทำประมาณการวัสดุและประมาณการราคา 
8. เลือกชนิดของเครื่องมือขนย้ายดิน เครื่องชักรอก เครื่องจักรกลและเครื่องมืออื่นๆ ที่จะใช้ในงานก่อสร้าง 
9. จัดทำตารางปฏิบัติงานและควบคุมให้การปฏิบัติงานไปตามแผนที่วางไว้ ทดสอบและตรวจดูโครงสร้างทั้งเก่าและใหม่ ตลอดจนวางแผนและจัดระบบงานซ่อม
 
สภาพการจ้างงาน
      วิศวกรโยธาทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา 
อาจจะต้องมาทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุด อาจจะต้องทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผลตอบแทนในรูปอื่น เช่นค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น
 
สภาพการทำงาน
      สถานที่ทำงานเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไป แต่โดยลักษณะงานที่จะต้องควบคุมงานสำรวจ ก่อสร้าง หรือซ่อมแซม จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจดูงานนอกสถานที่ในบางครั้ง เนื่องจากต้องควบคุมดูแลงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับงานหรือสถานที่ทำงานที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการทำงาน วิศวกรโยธาจึงต้องใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคลในขณะปฏิบัติงาน
 
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ 
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา 
เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่น ค้นคว้าอย่างต่อเนื่องเพื่อหาวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
มีวิสัยทัศน์และสนใจกับเหตุการณ์ ข่าวสารที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและมีจรรยาบรรณของวิศวกร 
มีความอดทนและเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีอารมณ์เยือกเย็น มีความคิดสุขุม 
มีลักษณะเป็นผู้นำ ทั้งนี้งานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการควบคุมคนเป็นจำนวนมาก 
มีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี 
ผู้ประกอบอาชีพวิศวกรในทุกสาขาควรจะมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเพื่อใช้ใน การรับรองสำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติและวุฒิการศึกษาตามข้อกำหนด โดยจะขอรับใบอนุญาตได้ที่กองวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สังกัดในกระทรวงมหาดไทย 
 
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
      ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาระยะเวลาการศึกษา 4 ปี เมื่อสำเร็จ การศึกษาแล้วจะได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) ในสาขาวิศวกรโยธา หรือ 
ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ศึกษาเกี่ยวกับทางด้านช่างจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี (หลักสูตรต่อเนื่อง) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) ในสาขาวิศวกรโยธา
 
โอกาสในการมีงานทำ
      สำหรับแหล่งจ้างงานวิศวกรโยธา โดยทั่วไปจะเป็นสถานประกอบกิจการทั่วไป หรือ หน่วยงาน ราชการ และรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ในช่วงนี้ ทำให้การลงทุนเพื่อขยายตัวชะงักไป การก่อสร้างอาคารสำหรับการพักอาศัย หรือสำหรับเป็นอาคารสำนักงานจะไม่ค่อยมีโครงการใหญ่ๆ หรือโครงการใหม่เกิดขึ้นมากนักแต่จะยังคงมีโครงการงานการก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่างๆ เช่น ถนน สะพานทางหลวง แนวโน้มความต้องการของตลาด แรงงานในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้ยังคงที่ตามภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะนี้กำลังมีการดำเนินงานก่อสร้างสาธารณูปโภคโครงการใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งยังมีความต้องการบุคลากรด้านนี้ และคาดว่าจะมีการแข่งขันเพื่อเข้าทำงานสูง เนื่องจากมีแรงงานเก่าที่ค้างอยู่และมีแรงงานใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน  เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นประเทศไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาจะกลับฟื้นตัวและ ขยายการลงทุนขึ้นอีก ฉะนั้นงานสำหรับวิศวกรโยธาจะกลับมาเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอีก ตามอัตราการขยายตัวของอาคารก่อสร้าง และการพัฒนาประเทศโดยการลงทุนในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่างๆ
 
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
      ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรโยธาหากทำงานเพิ่มประสบการณ์ ได้รับการอบรมในวิชาที่เกี่ยวข้องและมีความสามารถในการบริหาร ก็สามารถเลื่อนขั้นเป็นผู้บริหารโครงการได้สำหรับผู้ที่ศึกษาเพิ่มเติมถึงขั้นปริญญาโท หรือปริญญาเอก สามารถที่จะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั่วไปได้
 
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
8. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
9. มหาวิทยาลัยนครพนม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
10. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
11. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
12. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
13. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
14. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
15. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
16. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
17. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิชาเอกวิศวกรรมโยธา และวิชาเอกวิศวกรรมสำรวจ
18. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา 
 
 
 วิศวกรไฟฟ้า 
 
       ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วางแผนและควบคุมการผลิต การติดตั้ง การใช้ และการซ่อม ตรวจตราและทดสอบ ทำการวิจัยและให้คำแนะนำทางเทคนิคต่างๆ
 
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ต้องปฏิบัติ 
2. ออกแบบระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์กับส่วนประกอบทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
3. เตรียมข้อมูลและรายละเอียดในการทำงาน และระบุวิธีการผลิต การก่อสร้าง การติดตั้ง วัสดุ และเครื่องมือที่ต้องใช้ ประมาณค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าผลิต ค่าก่อสร้าง ค่าติดตั้ง และค่าดำเนินการ 
4. วางแผนและควบคุมการผลิต การก่อสร้าง การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การบำรุงรักษา การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงแก้ไข และการซ่อม 
5. วางแผนผังระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กับอุปกรณ์ต่างๆ 
6. จัดทำตารางปฏิบัติงานเขียนแบบร่าง แบบวาด และแผนทางไฟ 
7. ทำการตรวจตราและทดสอบเพื่อประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลักษณะการปฏิบัติงานที่ตรงตามรายละเอียดที่ระบุไว้ ความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน และมาตรฐานอื่นๆ 
8. วางแผนและควบคุมการใช้ การบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ เช่นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีพลังงาน 
9. ให้คำแนะนำและทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับ การปฏิบัติงานทางวิศวกรรมไฟฟ้า
 
สภาพการจ้างงาน
       วิศวกรไฟฟ้าทั่วไปได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา และอาจจะมีค่าวิชาเพิ่มให้สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ ในภาคเอกชนขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงานและภารกิจขององค์กรธุรกิจนั้นๆ และจะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามอัตราที่องค์การธุรกิจกำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ถ้าทำงานในหน่วยงานของรัฐจะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ประจำปีตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่กำหนดไว้ โดยปกติปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง อาจต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด ในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน 
 
สภาพการทำงาน
       ทำงานในสถานที่ทำงานที่มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไปแต่โดยลักษณะงานที่จะต้องควบคุมงานการติดตั้ง การตรวจตรา การทดสอบ และการซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า ในสถานประกอบกิจการให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็นต้องทำงานนอกสถานที่ด้วย โดยผู้ปฏิบัติงานในระดับวางแผนจะทำงานในภาคสนามร้อยละ 30 และในสำนักงานร้อยละ 70 ในระดับจัดการโดยเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานจะทำงานในภาคสนามร้อยละ 50 และในสำนักงานร้อยละ 50 ในระดับตรวจสอบคุณภาพโดยจะเป็นผู้ตรวจสอบความเรียบร้อยถูกต้องของงาน จะทำงานในภาคสนามร้อยละ 90 และในสำนักงานร้อยละ 10 
       สำหรับวิศวกรไฟฟ้าที่ทำงานในบริษัทรับเหมาการติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการทั่วไปมักจะต้องทำงานประจำที่สถานที่ในลักษณะงานภาคสนาม ซึ่งอาจต้องเดินทางไปประจำที่สถานประกอบการนั้นจนกว่างานที่รับเหมาจะแล้วเสร็จ 
ผู้ปฏิบัติงานวิศวกรไฟฟ้าทั่วไป อาจต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือในที่ร่ม ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ต้องปฏิบัติงาน และอาจจะสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
 
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
1. วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
2. ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่องานอาชีพ เช่นตาบอดสี 
3. มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร สามารถทำงานกลางแจ้งได้
4. มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ชอบการคิดคำนวณ มีความละเอียดรอบคอบ 
5. มีความเป็นผู้นำ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี 
6. มีความมั่นใจในตนเองสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ 
 
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
       ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6 หรือเทียบเท่าที่จะต้องสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี ในสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยหรือผู้สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ศึกษาต่อ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลังในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมหรือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีและรับโอนหน่วยกิตของผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี 
       เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว สามารถที่จะขอหรือสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมได้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประกอบอาชีพได้ที่กองวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสังกัด กระทรวงมหาดไทย
 
โอกาสในการมีงานทำ
       ผู้ปฏิบัติงานวิศวกรไฟฟ้าทั่วไปสามารถรับราชการ หรือทำงานในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น หรือทำงานในสถานประกอบกิจการ โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทรับเหมาติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าทั่วไปหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว 
       เนื่องจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจทำให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างของสถานประกอบกิจการต่างๆ ต้องชะลอ หรือชะงักไป การลงทุนในการขยายกำลังการผลิตลดลง งานการติดตั้งระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการต่างๆ ลดลง มีผลกระทบต่ออาชีพนี้ ทำให้ความต้องการวิศวกรไฟฟ้าที่รับงานติดตั้งระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการคงที่ แต่ยังมีงานซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการทั่วไปที่ยังต้องการอยู่ รวมทั้งโครงการสาธารณูปโภคใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้า (BTS) รถไฟฟ้าใต้ดิน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จจะมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เข้าทำงาน 
       เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว สถานประกอบกิจการ หรือโรงงานต่างๆ ขยายตัวขึ้น และการลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น การขยายโรงงานผลิตไฟฟ้าย่อยในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เช่น โรงงานไฟฟ้าย่อยราชบุรี เป็นต้น คาดว่าความต้องการวิศวกรไฟฟ้าในตลาดแรงงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
 
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
       วิศวกรไฟฟ้าที่รับราชการสามารถได้รับการเลื่อนขั้นและตำแหน่งได้จนถึงระดับสูงสุดในสายงานตามเงื่อนไขระเบียบราชการ และผู้ที่ทำงานในสถานประกอบกิจการหรือในโรงงาน อุตสาหกรรมทั่วไปก็จะได้รับการเลื่อนขั้นและเงินเดือนตามความสามารถและประสบการณ์จนถึงระดับผู้บริหาร สำหรับผู้ที่ทำงานในบริษัทรับเหมาในการ ติดตั้งระบบไฟฟ้า เมื่อมีประสบการณ์และมีความชำนาญจะสามารถทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ โครงการที่มีระดับ จำแนกตามขนาดของสถานประกอบกิจการและความยากง่ายของงานในแต่ละโครงการ สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์และมีเงินทุนมากพอก็สามารถที่จะประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการ หรือรับเหมาติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าตามสถานประกอบกิจการทั่วไป
 
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า 
5. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
6. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
7. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
8. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
9. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า+ไฟฟ้าสื่อสาร
10. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
11. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
12. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
13. สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
14. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิชาเอกวิศวกรรมไฟฟ้าและวิชาเอกวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
15. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า 
16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
17. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
18. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า 
19. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมไฟฟ้า) 
 
 
 
วิศวกรเครื่องกล
 
       ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องยนต์ เครื่องจักร ยานพาหนะและอุปกรณ์จักรกลต่างๆ วางแผนและควบคุมการผลิต การติดตั้ง การใช้และการซ่อม ตรวจตราและทดสอบทำการวิจัยและให้คำแนะนำทางเทคนิคต่างๆ
 
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ออกแบบเครื่องยนต์ เครื่องจักร ยานพาหนะและอุปกรณ์จักรกลต่างๆ 
2. วางแผนและควบคุมการผลิต การติดตั้ง การใช้และการซ่อม กำหนดแบบของเครื่องจักร คำนวณต้นทุนและวิธีการผลิต 
3. ออกแบบและคำนวณทางคณิตศาสตร์และจัดทำรายการแสดงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการ ก่อสร้าง 
4. วางแผนเกี่ยวกับวิธีการผลิตและควบคุมงานด้านเทคนิคการผลิต 
5. ควบคุมการติดตั้ง การบำรุงรักษาและการซ่อมอุปกรณ์จักรกล 
6. ทดสอบอุปกรณ์จักรกลเกี่ยวกับ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพและความถูกต้องตรงตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ 
7. อาจชำนาญในการออกแบบหรือการวางแผน หรือการควบคุมงานทางวิศวกรรมเครื่องกล ช่วงใดช่วงหนึ่ง เช่นการผลิต การติดตั้ง หรือการซ่อม
 
สภาพการจ้างงาน
       ส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจต้องทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ หรือทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผลตอบแทนในรูปอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือ สวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น
 
สภาพการทำงาน
       ทำงานในสถานที่ทำงานที่เหมือนสถานที่ทำงานทั่วไปคือเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไป แต่โดยลักษณะงานที่จะต้องควบคุมงานการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลงานในโรงงานประกอบการผลิตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากต้องควบคุมดูแลเครื่องจักรให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยหากทำงานในระดับวางแผนจะเป็นการทำงานในภาคสนามร้อยละ 30 และในสำนักงานร้อยละ 70 ในระดับจัดการโดยเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานจะเป็นการทำงานในภาคสนามร้อยละ 50 และในสำนักงานร้อยละ 50 ในระดับตรวจสอบคุณภาพโดยจะเป็นผู้ตรวจสอบความเรียบร้อยถูกต้องของงานจะเป็นการทำงานในภาคสนาม ร้อยละ 90 และในสำนักงานร้อยละ 10
 
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรม สาขาเครื่องกล 
มีความละเอียดรอบคอบ และช่างสังเกต 
รักงานช่าง และสนใจด้านวิศวกรรม 
ชอบงานบุกเบิก สามารถทำงานต่างจังหวัดได้ 
ออกแบบเครื่องกลได้ดี สามารถควบคุมการประกอบติดตั้งเครื่องจักร 
 
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
       ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสาขาวิทยาศาสตร์จากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ ต้องสมัครสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล หลักสูตรการศึกษา 4 ปีเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต(วศ.บ.)ในสาขาวิศวกรเครื่องกล 
       ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่ศึกษาด้านช่างเครื่องกลจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ สมัครสอบคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่เปิดรับผู้ที่วุฒิ (ปวส.) ใช้เวลาศึกษา 2 ปี (หลักสูตรต่อเนื่อง) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิศวกรเครื่องกล 
       ผู้ที่จะประกอบอาชีพวิศวกรในทุกสาขาต้องมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโดยจะต้องมี คุณสมบัติและวุฒิการศึกษาตามข้อกำหนดโดยจะขอรับใบอนุญาตได้ที่กองวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสังกัดในกระทรวงมหาดไทย
 
โอกาสในการมีงานทำ
       สำหรับแหล่งจ้างงานวิศวกรเครื่องจักรกล โดยทั่วไปจะเป็นสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ในช่วงนี้ทำให้การลงทุนเพื่อขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมชะงักดังนั้นงานการติดตั้งเครื่องจักรกลในภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลงมากเนื่องจากยังไม่มีการขยายตัว และลงทุนในด้านงานการผลิต แต่อย่างไรก็ตามงานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลที่มีอยู่นั้น ทำให้ยังมีความต้องการบุคลากรในด้านนี้อยู่ แนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้ยังคงที่ตามภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะนี้กำลังมีการดำเนินงานก่อสร้างสาธารณูปโภคโครงการใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งยังมีความต้องการบุคลากรด้านนี้ และคาดว่าจะมีการแข่งขันเพื่อเข้าทำงานสูง เนื่องจากมีแรงงานเก่าที่ตกงานและมีแรงงานใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา จะกลับฟื้นตัวและขยายการลงทุนขึ้นอีก ฉะนั้นงานสำหรับวิศวกรสาขานี้จะกลับมาเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอีก ตามอัตราการขยายตัวของสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรม
 
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
       ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้าน วิศวกรรมเครื่องกล หากทำงานเพิ่มประสบการณ์ ได้รับการอบรมในวิชาที่เกี่ยวข้อ และมีความสามารถในการบริหาร ก็จะสามารถเลื่อนขั้นเป็นผู้บริหารโครงการในโรงงานได้หรือสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยรับติดตั้งและรับเหมางานซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลในโรงงานทั่วไปหรือทำหน้าที่ที่ปรึกษาในการวางแผนงานในการติดตั้งเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป สำหรับผู้ที่ศึกษาเพิ่มเติมถึงขั้นปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก สามารถที่จะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั่วไปได้
 
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล
2. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
7. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
8. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
9. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
10. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
11. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
12. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
13. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
14. สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
15. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิชาเอกวิศวกรรมเครื่องกล
16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล 
17. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
18. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
19. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล 
20. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
 
 
วิศวกรอุตสาหการ 
 
       ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์วางแผน ออกแบบและควบคุมงานตามแผนการผลิต รวมทั้งวิธีการควบคุมการทำงาน ต้นทุนการผลิต และวิธีทำงานโดยปลอดภัย เพื่อให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น
 
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ออกแบบ วิเคราะห์วิธีการผลิตและปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ทางอุตสาหกรรม เช่นการผลิต การจัดการและการตลาดใช้ระบบที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคน วัสดุ อุปกรณ์และเครื่องจักร ซึ่งจะนำพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การจัดการมาใช้ เป็นต้น 
2. ตรวจสอบสถิติต่างๆ เช่น สถิติการขายผลผลิตและวัสดุที่สิ้นเปลือง เป็นต้น รวมทั้งศึกษาแผนผังของโรงงานผลิต นำเครื่องจักรใหม่ๆมาใช้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงและดัดแปลงเครื่องจักรเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น 
3. จัดวางเครื่องจักรและสายงานเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตสูงที่สุด โดยให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ต้นทุน ความปลอดภัยและปัจจัยอื่นๆ คงที่ 
4. แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ในการใช้เงิน วัสดุ เวลา กำลังการผลิตของคนงานและเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต 
5. ตรวจดูกรรมวิธีการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจงานในฝ่ายผลิต วางระเบียบและประสานงานระหว่างฝ่ายสำนักงานกับฝ่ายโรงงานแนะนำวิธีการต่างๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตให้สูงขึ้น ริเริ่มและวางแนวทางในการดำเนินงานที่จะเพิ่มผลผลิตของสถานประกอบการ 
6. ศึกษาและพิจารณากำหนดหน้าที่การงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตรวจสอบและกำหนดระดับอัตราค่าจ้างที่สมดุลกับค่าของงานที่คนงานทำในลักษณะเดียวกัน อาจศึกษาลักษณะหน้าที่งานที่ทำเฉพาะอย่างและแนะนำวิธีปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น 
7. อาจทำงานเป็นลูกจ้างขององค์การใดองค์การหนึ่ง หรือทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอิสระให้แก่ องค์การที่ต้องการคำปรึกษาแนะนำและความช่วยเหลือ 
8. วิศวกรอุตสาหการอาจแบ่งสาขาเฉพาะออกได้เป็นวิศวกรรมการจัดการระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมการปฏิบัติงานของมนุษย์ วิศวกรรมความปลอดภัยการวิจัยการปฏิบัติงานและวิศวกรรมการผลิตอุตสาหกรรม
 
สภาพการจ้างงาน
       ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา โดยปกติทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลาในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน
 
สภาพการทำงาน
       สถานที่ทำงานจะเหมือนที่ทำงานทั่วไป คือเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สำนักงานทั่วไป แต่โดยลักษณะงานที่จะต้องควบคุมงานการผลิต จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจดูงานในโรงงานที่ทำการผลิตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากต้องควบคุมดูแลงานการผลิตให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับงานหรือสถานที่ทำงานที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการทำงาน วิศวกรอุตสาหการจะต้องใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคลในขณะปฏิบัติงาน
 
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) 
เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นค้นคว้าอย่างต่อเนื่องเพื่อหาวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
มีวิสัยทัศน์และสนใจกับเหตุการณ์ข่าวสารที่เกิดขึ้นตลอดเวลารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และมีจรรยาบรรณของวิศวกร 
มีความอดทน เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีความคิดสุขุม 
มีลักษณะเป็นผู้นำ ทั้งนี้งานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการควบคุมคนเป็นจำนวนมาก 
มีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี 
 
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
       สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสาขาวิทยาศาสตร์ หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) ในสาขาที่เรียน หรือสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ศึกษาเกี่ยวกับทางด้านช่าง จากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี (หลักสูตรต่อเนื่อง) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) ในสาขาที่เรียน
 
โอกาสในการมีงานทำ
      เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของวิศวกรอุตสาหการมากขึ้น ฉะนั้นงานสำหรับวิศวกรสาขานี้จึงยังมีอยู่อย่างกว้างขวาง แนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวของโรงงานต่างๆ และการพัฒนากระบวนการผลิตสำหรับหน่วยงานราชการก็อาจจะยังต้องการวิศวกรอุตสาหการ เพื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์การผลิต
 
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
       ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านวิศวกรอุตสาหการหากทำงานเพิ่มประสบการณ์และได้รับการอบรมในวิชาที่เกี่ยวข้อง และมีความสามารถในการบริหารก็สามารถที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้บริหารในสถานประกอบการอุตสาหกรรมได้ หรือสามารถทำธุรกิจส่วนตัวโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการวางแผนงานการผลิต แก้ไขปรับปรุง กระบวนการผลิตและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำหรับผู้ที่ศึกษาเพิ่มเติมถึงขั้นปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก สามารถที่จะเป็นอาจารย์ใน มหาวิทยาลัยทั่วไปได้
 
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ 
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ 
5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
8. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
9. มหาวิทยาลัยนครพนม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
10. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
11. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
12. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
13. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
14. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
15. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
16. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
17. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิชาเอกวิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมอุตสาหการ
18. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ 
19. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
20. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ 
 
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ